สวนลุมพินีวัน ที่ประสูติ

ลุมพินีวัน  เป็นพุทธสังเวชนียสถานที่สำคัญแห่งที่ 1 ใ 4 สังเวชนียสถานของชาวพุทธ เป็นสถานที่ประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ ผู้ซึ่งต่อมาตรัสรู้เป็นพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ตั้งอยู่ที่อำเภอไภรวา แคว้นอูธประเทศเนปาลเป็นพุทธสังเวชนียสถาน เพียงแห่งเดียวที่อยู่นอก ประเทศอินเดีย ลุมพินีวัน เดิมเป็นสวนป่าสาธารณะหรือวโนทยานที่ร่มรื่นเหมาะแก่การพักผ่อน ในสมัยพุทธกาลลุมพินีวันตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างเมืองกบิลพัทธกับเมืองเทวะทหะ ในแคว้นสักกะ บนฝั่ง แม่น้ำโรหินีหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว พระเจ้าอโศกมหาราชได้โปรดให้สร้างเสาหินขนาดใหญ่มาปักไว้ตรงบริเวณที่ประสูติ เรียกว่า เสาอโศก ที่จารึกข้อความเป็นอักษรพราหมีว่าพระพุทธเจ้าประสูติที่ตรงนี้

ปัจจุบันลุมพินีวันอยู่ในเขตประเทศเนปาล ติดชายแดนประเทศอินเดียทางเหนือเมืองโคราหะปุระ ห่างจากเมืองติเลาราโกต (หรือ นครกบิลพัสดุ์) ทางทิศตะวันออก 11 กิโลเมตร และห่างจากสิทธารถนคร (หรือ นครเทวทหะ) ทางทิศตะวันตก 11 กิโลเมตร ซึ่งถูกต้องตามตำราพระพุทธศาสนาที่กล่าวว่าลุมพินีวันสถานที่ประสูติ ตั้งอยู่ระหว่างเมืองกบิลพัสดุ์และเมืองเทวทหะ ปัจจุบัน ลุมพินีวันมีเนื้อที่ประมาณ 2,000 ไร่ ทางการเรียกสถานที่นี้ว่า รุมมินเด มีสภาพเป็นชนบท มีผู้อาศัยอยู่ไม่มาก มีสิ่งปลูกสร้างเป็นพุทธสถานเพียงเล็กน้อย แต่มีวัดพุทธอยู่ในบริเวณนี้หลายวัด รวมทั้งวัดไทยลุมพินี ลุมพินีวันได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโก้ให้เป็นมรดกโลก ประเภทมรดกทางวัฒนธรรม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540ในสมัยพุทธกาล ลุมพินีวันอยู่ในเขตแห่งดินแดนที่เรียกว่าชมพูทวีป ตั้งอยู่ระหว่างกรุงกบิลพัสด์เมืองหลวงของพระเจ้าสุทโธทนะ และกรุงเทวทหะ เมืองหลวงของพระเจ้าชนาธิป เป็นพระราชอุทยานลาดลุ่มร่มรื่นกึ่งกลางระหว่างทางสำหรับพักผ่อนหย่อนใจของกษัตย์และประชาชน สภาพของลุมพินีวันในสมัยนั้นอาจจะพิจารณาได้จากคัมภีร์วิสุทธชนวิลาสินี อรรถกถาขุททกนิกาย อปทาน ได้พรรณนาเป็นภาษาบาลีไว้ว่า

ลุมพินีวันหลังพุทธปรินิพพาน  หลังจากการประสูติของพระพุทธองค์แล้ว ไม่ปรากฏหลักฐานอื่นว่าพระพุทธเจ้าได้เสด็จมา ณ ที่แห่งนี้แต่อย่างใด แม้พระพุทธเจ้าจะได้เสด็จมา ณ กรุงกบิลพัสดุ์ ก็ประทับที่นิโครธารามที่พระประยูรญาติจัดถวายหาได้มาประทับหรือแสดงธรรม ณ ลุมพินีวันอีกไม่ เนื่องเพราะลุมพินีวันนั้นเป็นอุทยานไม่มีผู้คนอาศัยนั่นเอง

หลังพุทธปรินิพาน กษัตริย์ซึ่งได้รับส่วนแบ่งแห่งพระบรมสาริกธาตุ ได้นำพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุไว้ในสถูปแห่งหนึ่ง ไม่ไกลจากลุมพินีวันนัก จวบจนพุทธศักราชได้ 294 ปี พระเจ้าอโศกมหาราชได้เสด็จนมัสการพุทธสังเวชนียสถานทั่วทั้งชมพูทวีป พร้อมด้วยพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ (หรือพระอุปคุต) ได้เสด็จมานมัสการ ณ ลุมพินีนี้ พระองค์โปรดฯ ให้พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระนำทางและชี้จุดที่เจ้าชายสิทธัตถะประสูติ แล้วทรงสร้างอาราม พระเจดีย์และเสาศิลาจารึกไว้เป็นสัญลักษณ์ว่า ลุมพินีวันนี้มีความสำคัญอย่างไร ซึ่งเสาศิลาหินทรายของพระเจ้าอโศกยังคงตั้งอยู่ ณ ที่เดิมจนถึงปัจจุบัน

หลังจากยุคของพระเจ้าอโศกมหาราช เรื่องราวของลุมพินีวันได้หายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนาเกือบ 700 ปี โดยไม่ปรากฏหลักฐานเอกสารที่สามารถสืบค้นถึงความเป็นไปของลุมพินีวันในช่วงนี้ได้ จนในประมาณ พ.ศ. 900 สมณะฟาเหงียนได้เดินทางจากประเทศจีนมาถึงลุมพินีวัน ท่านได้กล่าวไว้สั้น ๆ เพียงว่าได้พบบ่อสรงสนาน และระบุที่ตั้งของลุมพินีวันว่าอยู่ไกลจากกรุงกบิลพัสดุ์ไปทางทิศตะวันออกประมาณ 14-16 กิโลเมตร ต่อมา ในปี พ.ศ. 1181 สมณะเฮี้ยนจัง หรือ พระถังซ่ำจั้ง ได้เดินทางมาถึงลุมพินีวัน โดยได้จดบันทึกระบุที่ตั้งสถานที่ต่าง ๆ ในลุมพินีวันไว้คร่าว ๆ ท่านได้กล่าวถึงบ่อสรงสนาน ซึ่งคงเป็นบ่อเดียวกับที่สมณะฟาเหียนกล่าวไว้ในบันทึก ซึ่งบ่อนี้ยังคงมีอยู่มาจนปัจจุบัน และกล่าวว่าไม่ไกลจากบ่อนั้นไปประมาณ 24 ก้าว มีต้นสาละต้นหนึ่ง เชื่อกันว่าเป็นจุดที่เจ้าชายสิทธัตถะประสูติ จากจุดนั้นไปทางใต้มีเจดีย์องค์หนึ่ง เชื่อกันว่าเป็นจุดที่พระอินทร์เสด็จจากสวรรค์ลงมาต้อนรับพระราชโอรสที่ประสูติใหม่ ใกล้ ๆ กันมีเจดีย์อีกสี่องค์ ที่สร้างไว้เพื่อถวายแก่ท้าวจตุโลกบาล ที่ทำหน้าที่ถวายอภิบาลพระโอรสประสูติใหม่ และใกล้กันนั้นมีเสาอโศกรูปสิงห์ประดิษฐานอยู่บนยอด

จวบจน พ.ศ. 2438–2439 เซอร์อเล็กซานเดอร์ คันนิ่งแฮม และคณะ ได้ค้นพบเสาศิลาพระเจ้าอโศกซึ่งถูกฝังดินไว้และพบจารึกเป็นอักษรพรหมีระบุว่าที่แห่งนี้คือสถานที่เจ้าชายสิทธัตถะประสูติ จากนั้นจึงเริ่มมีการขุดค้นทางโบราณคดี โดยพบซากปรักหักพังจำนวนมาก ซากสถูปกว่า 50 องค์ และซากวิหารอาราม มีอายุตั้งแต่สมัยราชวงศ์โมริยะ ราชวงศ์ศุงคะ ราชวงศ์กุษาณะ และสมัยคุปตะ (ประมาณ พ.ศ. 300 - พ.ศ. 950) 

จุดแสวงบุญและสภาพของลุมพินีวันในปัจจุบัน

        ปัจจุบัน ลุมพินีวันได้รับการบูรณะและมีถาวรวัตถุสำคัญที่ชาวพุทธนิยมไปสักการะ คือ "เสาหินพระเจ้าอโศกมหาราช" ที่ระบุว่าสถานที่นี้เป็นสถานที่ประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ นอกจากนี้ ยังมี "วิหารมายาเทวี" ภายในประดิษฐานภาพหินแกะสลักพระรูปพระนางสิริมหามายาประสูติพระราชโอรส โดยเป็นวิหารเก่ามีอายุร่วมสมัยกับเสาหินพระเจ้าอโศก ปัจจุบัน ทางการเนปาลได้สร้างวิหารใหม่ทับวิหารมายาเทวีหลังเก่า และได้ขุดค้นพบศิลาจารึกรูปคล้ายรอยเท้า สันนิษฐานว่าเป็นจารึกรอยเท้าก้าวที่เจ็ดของเจ้าชายสิทธัตถะที่ทรงดำเนินได้เจ็ดก้าวในวันประสูติ

พุทธอุทยานประวัติศาสตร์ของโลก

ลุมพินีวันได้รับการพัฒนาจากชาวพุทธทั่วโลก โดยเฉพาะจากโครงการฟื้นฟูพุทธสถานลุมพินีวันให้เป็น "พุทธอุทยานทางประวัติศาสตร์ของโลก" ซึ่งเป็นดำริของ ท่านอู่ท่าน ชาวพุทธพม่า ในสมัยที่ท่านดำรงตำแหน่งเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ท่านตั้งใจเริ่มโครงการฟื้นฟูให้ลุมพินีวันเป็นศูนย์รวมจิตใจชาวพุทธบนพื้นที่สี่เหลี่ยมผืนผ้ากว่า 6,000 ไร่ (ขนานตามแนวเหนือใต้) แบ่งพื้นที่เป็นสัดส่วนสำหรับปลูกป่าและสร้างวัดพุทธนานาชาติจากทั่วโลกกว่า 41 ประเทศ โดยโบราณสถานลุมพินีวันตั้งอยู่ทางด้านใต้ ปัจจุบัน มีวัดไทยและวัดพุทธทั่วโลกไปสร้างอยู่จำนวนมากและมีขนาดใหญ่โต เพื่อรองรับพุทธศาสนิกชนที่มาสักการะแสวงบุญ

มรดกโลก

ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 21 ที่เมืองนาโปลี ประเทศอิตาลี เมื่อ พ.ศ. 2540 ลุมพินีวันได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลกโดยใช้ชื่อว่า "ลุมพินี ที่ประสูติพระพุทธเจ้า  ตามข้อกำหนดและหลักเกณในการพิจารณาดังนี้

1 - เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงหลักฐานของวัฒนธรรมหรืออารยธรรมที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันหรือว่าที่สาบสูญไปแล้ว

- มีความคิดหรือความเชื่อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเหตุการณ์หรือมีความโดดเด่นยิ่งในประวัติศาสตร์